สีทะเบียนรถ มีกี่สี พร้อมความหมายของสีและข้อควรรู้

Last updated: 30 ส.ค. 2567  |  1132 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การขับขี่รถยนต์บนท้องถนน นอกจากที่เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อความปลอดภัยแล้ว เรื่องของกฎระเบียบในด้านการใช้รถอย่างการจดทะเบียนประเภทรถและใช้สีทะเบียนรถให้ตรงกับประเภทรถที่ใช้งาน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ขับขี่ควรรู้ เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาการฝ่าฝืนกฎหมายตามมาภายหลัง วันนี้ aprtech มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับสีป้ายทะเบียนรถของประเทศไทย ว่าแต่ละประเภทมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงข้อกฎหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์มาฝาก

 

แผ่นป้ายทะเบียนรถ คืออะไร?

แผ่นป้ายทะเบียนรถ เป็นแผ่นป้ายที่ทำจากโลหะหรือพลาสติก ติดตั้งบนรถยนต์หรือยานพาหนะทางบกทุกคัน เพื่อใช้ระบุตัวตนของเจ้าของรถคันนั้น ๆ โดยจะมีการกำหนดรูปแบบของตัวเลขและตัวอักษร รวมถึงสีของพื้นหลังและตัวอักษรที่แตกต่างกันออกไปสำหรับรถแต่ละประเภท เพื่อสะดวกในการจำแนกประเภทของยานพาหนะ


หากไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนรถ จะเกิดอะไรขึ้น?

เนื่องจากแผ่นป้ายทะเบียนเป็นหลักฐานสำคัญในการระบุตัวตนของยานพาหนะและผู้ขับขี่ การขับขี่ยานพาหนะโดยไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน หรือจงใจนำแผ่นป้ายทะเบียนออก ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจราจร และมีโทษตามกฎหมายกำหนด ดังนี้

 

  • ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 7

ตามกฎหมายระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียน แผ่นป้ายเครื่องหมายเลขทะเบียน หรือป้ายประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่ง กฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน กฎหมายว่าด้วยรถลาก หรือกฎหมายว่าด้วยรถจ้างมาใช้ในทางเดินรถ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้เพื่อป้องกันเหตุโจรกรรมและอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งผู้ก่อเหตุอาจมีการถอดหรือนำทะเบียนรถออกเพื่อหลบหนีการตรวจสอบและระบุตัวตนจากเจ้าหน้าที่

 

  • ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 11

ตามกฎหมายระบุว่า รถที่จดทะเบียนแล้วต้องมีและแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยหากป้ายทะเบียนรถเกิดการชำรุดหรือซีดจางของตัวอักษร ผู้ขับขี่มีหน้าที่ต้องขอเปลี่ยนป้ายทะเบียนใหม่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน นอกจากนี้ การกระทำใด ๆ ที่ทำให้ป้ายทะเบียนเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิม เช่น ติดสติกเกอร์ ขูดสี หรือใช้ป้ายทะเบียนปลอม ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท


สีทะเบียนรถ หรือ สีป้ายทะเบียนรถ มีกี่สี มีสีอะไรบ้าง?

สีป้ายทะเบียนรถสามารถจำแนกออกเป็น 6 ประเภทหลัก ๆ ตามชนิดและการใช้งานของยานพาหนะ ดังนี้

  1. พื้นหลังสีขาวสะท้อนแสงหรือพื้นหลังกราฟิก ใช้สำหรับรถยนต์โดยสารหรือรถบรรทุกส่วนบุคคลที่ไม่ได้ใช้งานในเชิงพาณิชย์
  2. พื้นหลังสีเหลืองสะท้อนแสง ใช้สำหรับรถรับจ้างเพื่อการรับ-ส่งผู้โดยสารหรือใช้งานในเชิงพาณิชย์
  3. พื้นหลังสีเขียวสะท้อนแสง ใช้สำหรับรถให้เช่าสำหรับการท่องเที่ยวหรือทัศนาจรระหว่างสถานที่
  4. พื้นหลังสีส้มสะท้อนแสง ใช้สำหรับรถที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น การก่อสร้าง หรือเกษตรกรรม
  5. พื้นหลังสีขาวหรือฟ้าไม่สะท้อนแสง เป็นป้ายทะเบียนสำหรับรถของบุคคลสำคัญทางราชการ เช่น คณะผู้แทนทางการทูต, คณะกงสุล, หรือหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ
  6. พื้นหลังสีแดงสะท้อนแสง เป็นป้ายทะเบียนชั่วคราวสำหรับรถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก


ความหมายของสีทะเบียนรถ แต่ละสีหมายถึงอะไรบ้าง?

ซึ่งสีป้ายทะเบียนรถแต่ละสีก็ยังสามารถแบ่งหมวดหมู่แยกย่อยออกมาได้เป็นทั้งหมด 13 ประเภท ได้แก่

 

สีป้ายทะเบียนรถ สีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ

สีทะเบียนรถที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด ใช้สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถเก๋ง, รถ SUV, รถกระบะ 4 ประตู เป็นต้น รวมถึงรถจักรยานยนต์ โดยข้อกำหนดสำคัญของป้ายทะเบียนประเภทนี้คือ ใช้สำหรับธุระส่วนบุคคลเท่านั้น และไม่สามารถใช้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรับ-ส่งผู้โดยสารได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 10,000 บาท


สีป้ายทะเบียนรถ สีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีน้ำเงิน

ป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถตู้, รถ MPV ขนาดใหญ่ ที่ใช้เพื่อการส่วนตัว


สีป้ายทะเบียนรถ สีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีเขียว

ป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล เช่น รถกระบะแค็บ รถกระบะติดหลังคา หรือรถบรรทุกขนาดเล็ก ที่ใช้เพื่อการส่วนตัว ไม่ได้ใช้ในการประกอบธุรกิจขนส่งสินค้า


สีแผ่นป้ายทะเบียน สีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ

เป็นป้ายทะเบียนสำหรับรถรับจ้างเพื่อการรับ-ส่งผู้โดยสาร โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  • ป้ายทะเบียนหมวดตัวอักษรและตัวเลข 4 หลัก จะใช้สำหรับรถยนต์รับจ้างที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่) หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง
  • ป้ายทะเบียนตัวเลขรหัสประเภทรถ 2 หลัก และหมายเลขทะเบียนรถ 4 หลัก จะใช้สำหรับรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์, รถตู้, รถสองแถว, รถทัวร์ เป็นต้น


สีแผ่นป้ายทะเบียน สีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีแดง

ป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์รับจ้างที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารข้ามจังหวัด


สีแผ่นป้ายทะเบียน สีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีน้ำเงิน

ป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง ได้แก่ รถกะป๊อ


สีป้ายทะเบียนรถ สีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีเขียว

ป้ายทะเบียนสำหรับรถรับจ้างสามล้อ หรือรถตุ๊กตุ๊ก โดยผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่สาธารณะสำหรับรถสามล้อโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพรับส่งผู้โดยสารได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย


สีป้ายทะเบียนรถ สีเขียวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีขาว หรือ สีดำ

ป้ายทะเบียนรถที่ใช้สำหรับรถให้บริการเช่าเพื่อการท่องเที่ยวหรือการทัศนาจร โดยทั่วไปจะพบเห็นได้บริเวณสนามบิน โรงแรม หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น รถลีมูซีนพร้อมคนขับ รถยนต์ให้เช่าพร้อมคนขับ ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะประเภท ท.1 หรือใบอนุญาตขับขี่ที่เทียบเท่าตามที่กฎหมายกำหนด


สีป้ายทะเบียนรถ สีส้มสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ

ป้ายทะเบียนสำหรับรถที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น รถแทรกเตอร์, รถบดถนน, รถแบคโฮ, รถเครน, รถตัก, รถบรรทุกหนัก และรถที่ใช้ในทางเกษตรกรรม ผู้ขับขี่รถประเภทนี้ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ประเภทที่เกี่ยวข้องกับรถชนิดนั้น ๆ ซึ่งออกให้โดยกรมการขนส่งทางบก เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และเพื่อควบคุมมาตรฐานของผู้ขับขี่


สีป้ายทะเบียนรถ สีแดงสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ

หรือที่นิยมเรียกกันว่า รถป้ายแดง คือ ป้ายทะเบียนชั่วคราวสำหรับรถยนต์คันใหม่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับกรมการขนส่งทางบก โดยผู้ครอบครองรถสามารถใช้ป้ายแดงได้ไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่รับมอบรถจากผู้จำหน่าย หลังจากนั้นจะต้องนำรถไปจดทะเบียนและเปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียนสีขาวตามประเภทของรถทันที หากฝ่าฝืน กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งรถป้ายแดงยังมีข้อจำกัดเพิ่มเติมคือ ไม่สามารถขับข้ามเขตจังหวัดที่ระบุไว้ในป้ายทะเบียนได้ และสามารถขับขี่ได้เฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่ 06:00 - 20:00 น. เท่านั้น


สีป้ายทะเบียนรถ สีขาวไม่สะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ

ป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์ของคณะผู้แทนทางการทูต โดยจะใช้ตัวอักษร ท. ตามด้วยรหัสประเทศ 2 หลัก และเลขทะเบียนรถ 4 หลัก


สีป้ายทะเบียนรถ สีฟ้าไม่สะท้อนแสง ตัวหนังสือสีขาว

ป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์ของบุคคลในหน่วยงานพิเศษของสถานทูต สถานกงสุล หรือองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีลักษณะเฉพาะคือ ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรภาษาไทย ตามด้วยรหัสประเทศ 2 หลัก และเลขทะเบียนรถ 4 หลัก เช่นเดียวกับป้ายทะเบียนของคณะผู้แทนทางการทูต โดยตัวอักษรนำหน้าที่ใช้แบ่งประเภทของผู้ใช้รถยนต์มีดังนี้

  • อักษร พ. ใช้สำหรับรถยนต์ของบุคคลในหน่วยงานพิเศษของสถานทูต
  • อักษร ก. ใช้สำหรับรถยนต์ของบุคคลในคณะผู้แทนทางกงสุล
  • อักษร อ. ใช้สำหรับรถยนต์ของบุคคลในองค์การระหว่างประเทศหรือทบวงการชํานัญพิเศษแห่งสหประชาชาติซึ่งประจําอยู่ในประเทศไทย


สีป้ายทะเบียนรถ พื้นหลังเป็นลายกราฟิก ตัวหนังสือสีดำ

ป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง เช่นเดียวกับป้ายทะเบียนสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ แต่มีความพิเศษตรงที่เป็นป้ายทะเบียนที่ออกแบบมาเพื่อการประมูลโดยเฉพาะ ซึ่งอาจมีเลขทะเบียนที่เป็นเลขมงคล เลขเรียง หรือเลขชุดที่จดจำได้ง่าย นอกจากนี้ ยังโดดเด่นด้วยพื้นหลังกราฟิกที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดที่ขึ้นทะเบียน เช่น กรุงเทพมหานคร เป็นภาพสะพานพระราม 8, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และวัดพระแก้ว หรือจังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพประตูท่าแพและหมีแพนด้า เป็นต้น

สีทะเบียนรถมีความสำคัญต่อผู้ใช้รถเป็นอย่างมาก เพราะหากใช้สีป้ายทะเบียนรถผิดประเภท อาจเข้าข่ายมีความผิดทาง พ.ร.บ. รถยนต์ ฐานปิดบังหรือเจตนาดัดแปลงทะเบียนรถ ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกปรับ หรือดำเนินคดีตามกฎหมายได้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ผู้ขับขี่ควรเลือกจดทะเบียนรถให้ตรงกับประเภทและวัตถุประสงค์การใช้งานจริงเสมอ


ไม่ว่าจะสีป้ายทะเบียนรถสีอะไร ก็ต้องใช้ CTEK ดูแลแบตเตอรี่

สิ่งสำคัญที่ผู้ขับขี่รถทุกประเภทต้องให้ความสำคัญ คือการดูแลรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานเสมอ โดยเฉพาะกับรถสปอร์ต รถ Supercar ที่จอดทิ้งไว้เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้นำออกไปขับขี่ จนทำให้เกิดการคายประจุของแบตเตอรี่ สาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ซึ่งถึงแม้ว่าจะชาร์จไฟเข้าไปแค่ไหน แบตเตอรี่ก็เก็บประจุไฟไม่ได้ จนไม่สามารถใช้งานได้ในที่สุด 


ดังนั้นการใช้เครื่องชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ CTEK จากสวีเดน เสียบชาร์จรถยนต์ไว้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยดูแลแบตเตอรี่ให้มีอายุใช้งานยาวนานเต็มประสิทธิภาพ โดยเครื่องชาร์จ CTEK จะชาร์จไฟด้วยกระแสสูงสุดให้เต็มถึง 80% หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดกระแสลงพร้อมตัดไฟอัตโนมัติเมื่อชาร์จเต็ม 100% เพื่อป้องกันแบตเตอรี่ Overcharge ทำให้เราสามารถชาร์จทิ้งไว้ได้เป็นเดือน ๆ โดยไม่ทำให้แบตเตอรี่เสีย สะดวก ไม่ต้องเฝ้า ไม่ต้องคอยสตาร์ทหรือเอารถไปวนขับให้สิ้นเปลืองน้ำมัน


รุ่นที่อยากแนะนำคือ CTEK MXS 5.0 เครื่องชาร์จที่เหมาะกับทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 

- กระแสชาร์จสูงสุด 5A
- เหมาะสำหรับแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด 12V ขนาด 1.2 - 110Ah
- ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านช่างก็สามารถใช้งานได้
- รุ่นขายดีที่สุดในปัจจุบัน

ดูแลแบตเตอรี่รถให้ใช้งานได้นานเต็มประสิทธิภาพ สตาร์ทติดทุกครั้งที่ใช้งาน ซื้อ CTEK เลยวันนี้!



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้